โดย พระคุณเจ้ายออด พิมพิสาร, C.Ss.R.
1. พระคริสตเจ้าคือแหล่งที่มาแห่งชีวิตของเรา ดังเช่นของนักบุญเปาโล :
ปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2009 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้ทรงประกาศให้เป็นปีนักบุญเปาโล โอกาสครบรอบ 2000 ปี แห่งวันเกิดของท่าน จึงอยากนำเรื่องราวของท่าน โดยเฉพาะความใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้าของท่านมาพิจารณา เพื่อเลียนแบบความศรัทธาที่ท่านมีต่อองค์พระคริสตเจ้า
ในบทจดหมายถึงชาวโคโลสี นักบุญเปาโลสรุปชีวิตจิตของท่านโดยใช้ประโยคสั้น ๆ ว่า “พระคริสตเจ้าคือทุกสิ่ง” (คส 3:11) เป็นการกล่าวถึงอุดมคติในชีวิตของท่านอย่างชัดเจน จดหมายของนักบุญเปาโลมีจำนวนไม่มาก แต่เปี่ยมไปด้วยการกล่าวถึงพระคริสตเจ้า ในบรรดาจดหมายของท่าน นักบุญเปาโลใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (DOMINUS) 280 ครั้ง ท่านกล่าวถึงพระนามของพระเยซูเจ้า 220 ครั้ง ท่านใช้คำว่า “พระคริสตเจ้า” 400 ครั้ง ดังนั้น ท่านนักบุญเปาโล กล่าวถึงพระเยซูคริสตเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้า รวมทั้งหมดประมาณ 900 ครั้ง เกือบทุกบรรทัดในจดหมายของท่าน จะมีการกล่าวขวัญถึงพระองค์
จึงเห็นได้อย่าชัดเจนว่า นักบุญเปาโลมีความสนใจย่างยิ่งกับพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า มิใช่ตัวท่านที่มีชีวิตอยู่ แต่พระคริสตเจ้าทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในตัวท่าน สำหรับนักบุญเปาโล การมีชีวิตคือพระคริสตเจ้า สิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของท่านก็คือ ให้มนุษย์ทุกคนได้มีชีวิตของพระคริสตเจ้าดังเช่นตัวท่าน นี่คือเหตุผลที่ท่านเขียนจดหมายของท่าน จดหมายเหล่านี้ก็คือบทเทศน์ที่มาจากทางไกล โดยท่านมีความประสงค์ที่จะให้กลุ่มคริสตชนที่ท่านเขียนถึง ได้นำไปอ่านในพิธีบูชาขอบพระคุณ
จดหมายของท่าน และสิ่งที่ท่านกล่าวซึ่งนักบุญลูกานำมาเขียนไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวก คือมรดกที่ตกทอดมาถึงเรา นับว่าเป็นมรดกอันล้ำค่า เป็นแบบอย่างสำหรับชีวิตจิตของเรา ชีวิตจิตของเราควรจะมีรากฐานอยู่บนความรักเป็นการส่วนตัว และความใกล้ชิดกับองค์พระเยซุคริสตเจ้าของเรา ควรแสดงตัวออกมาในชีวิตหมู่คณะของเรา
ให้เราวอนขอพระเยซูเจ้า ขอให้พระองค์ทรงเป็นทุกสิ่งในชีวิตของเรา ขอให้ภาระหน้าที่ของเรา แม้จะต่ำต้อยในสังคมหรือหมู่คณะ ได้เพิ่มเติมเสริมแต่งชีวิตของพระคริสตเจ้าในตัวเราให้ครบบริบูรณ์มากขึ้น ขอให้ชีวิตของเราเป็นบทเทศน์ของพระคริสตเจ้าให้แก่ทุกคน ให้เขาได้เห็นและได้ยินพระองค์ในตัวเรา
2. พระคริสตเจ้าคือทุกสิ่งทุกอย่างของเรา
ชีวิตจิตของเราไม่ควรจะเป็นเพียงการพิจารณาตัวของเรา หรือการวินิจฉัยตัวเราเท่านั้น แม้ว่าสิ่งนี้จะมีความจำเป็น แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ชีวิตจิตของเรา จะต้องเป็นชีวิตแบบคริสตชน เหนือสิ่งอื่นใด ชีวิตจิตแบบคริสตชนจะต้องเป็นชีวิตที่มีควาเป็นหนึ่งเดียวกับพระบุคคลของพระคริสตเจ้า นี่คือเสาหลักอันเป็นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา ในการพิจารณามโนธรรมของเรา ในความพยายามที่จะละเว้นการกระทำความผิด และการมุ่งแสวงหาฤทธิ์กุศลต่าง ๆ
พระคริสตเจ้าคือผู้ที่ทรงช่วยให้เราติดต่อกับพระเจ้าได้อย่างแน่นอน ตัวเราเองไม่สามารถที่จะกล่าวคำว่า “ขอบพระคุณพระเจ้า” ได้โดยมิได้ผ่านทางพระคริสตเจ้า เดชะพระคริสตเจ้า เราจึงเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ในฐานะบุตร-ธิดาของพระบิดาเจ้าสวรรค์ นี่คือการมีส่วนในชีวิตของพระตรีเอกภาพ กล่าวคือการเป็นบุต-ธิดาของพระเจ้า ทั้งหมดนี้ตกทอดมาเป็นของเรา ได้โดยอาศัยพระคริสตเจ้า และการที่เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ เราเป็นบุตร-ธิดาของพระบิดาเจ้าสวรรค์เหมือนกับพระคริสตเจ้า
การที่เราได้ถูกยกขึ้นไปให้มีส่วนในพระตรีเอกภาพนั้น สืบเนื่องมาจากศีลล้างบาปที่เราได้รับ แต่ขบวนการนั้นยังมิได้ครบถ้วน และเราจะต้องทำให้ครบบริบูรณ์ การเป็นบุตร-ธิดาของพระเจ้า และศีลล้างบาปของเราจะครบสมบูรณ์ได้ ก็โดยการสวดภาวนา และการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ บทภาวนาทุกบทของเรา ศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละศีลที่เรารับ เป็นการสัมผัสกับพระเยซูคริสตเจ้าอย่างใกล้ชิด เป็นการทำให้ศีลล้างบาปที่เราได้รับ แผ่ขยายออกไป ทำให้การเป็นบุตร-ธิดาของพระเจ้าลึกซึ้งยิ่งขึ้นเหนือสิ่งอื่นใดในช่วงที่เราร่วมในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ และรับศีลมหาสนิท เราสามารถกล่าวได้ว่า
“ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป
แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า”
(กท 2:20)
ให้เราวอนขอพระเจ้าได้ทรงช่วยให้เราดำเนินชีวิตพระ
ซึ่งเราได้รับนี้ดังเช่นนักบุญเปาโล
ให้เราวอนขอพระเจ้าให้ทรงขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่กีดกั้นมิให้เรา
เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าอย่างครบถ้วนบริบูรณ์
เพื่อเราจะได้ส่งชีวิตพระนี้ให้แก่ผู้อื่นต่อ ๆ ไป
ให้เราวอนขอพระเจ้าให้เรามีพลัง
ที่จะรับความยากลำบาก และให้เราเจริญชีวิตของเรา
เพื่อพระเจ้าและเพื่อผู้อื่น เช่นเดียวกับ
ท่านนักบุญเปาโลอัครสาวก
อุดมสารรายสัปดาห์
ปีที่ 32 ฉบับที่ 27 ประจำวันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม 2008 |